Wednesday, October 14, 2009

การทำสมาธิแบบพระพุทธเจ้า

การทำสมาธิของคนส่วนใหญ่ประสบกับความล้มเหลว

หรือก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นลบกับการทำสมาธิ

เพราะขาดแนวทางที่ถูกต้อง

หรือมองแนวทางที่ถูกต้องแบบผิดๆ

ซึ่งก็หมายความว่ายิ่งทำสมาธิเท่าไร

ใจก็ยิ่งแกว่ง หรือห่างไกลจากสมาธิที่ถูกที่ชอบมากขึ้นเท่านั้น


ความเข้าใจขั้นพื้นฐานจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งยวด

ถ้าขาดความเข้าใจแล้วกระโดดไปพยายามทำสมาธิเลย

เกือบร้อยทั้งร้อยจะพยายามเพ่งจับสิ่งใดสิ่งหนึ่งแน่นเกินไป

หรือไม่ก็จ้องบังคับความคิดของตัวเองให้ดับไปดื้อๆ


การทำสมาธินั้น ทุกคนหวังจะได้ผลเป็นความสุขสงบ

พูดง่ายๆ สมาธิคือการเปลี่ยนอึดอัดเป็นสบาย

แต่หลายคนทำสมาธิแล้วเปลี่ยนสบายเป็นอึดอัด

แล้วจะไปชอบใจหรือเห็นค่าของสมาธิได้อย่างไรกัน?


เพื่อจะมองเห็นทั้งเป้าหมายของสมาธิแบบที่พระพุทธเจ้าสอน

ตลอดจนทราบขั้นตอนของความสำเร็จอย่างชัดเจน

ก็ขอให้ทำความเข้าใจผ่านข้อสงสัยในหมู่นักเจริญสติ

ที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด และก่อให้เกิดความละล้าละลังที่สุด ดังต่อไปนี้


) การทำสมาธิกับการเจริญสติต่างกันอย่างไร?


สมาธิคือภาวะของจิตที่ "ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว"

คือนิ่งอยู่กับตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งสิ่งอื่น

หรือเมื่อมีสิ่งอื่นมารบกวนก็ไม่แกว่งไกวตามง่ายๆ


สติคือภาวะของจิตที่ "รู้เรื่องรู้ราว"

คือไม่ใช่เอากันแค่นิ่งอยู่ในฝัก

แต่ตัดเชือกกันว่าเอาตัวรอดได้หรือเปล่าด้วย

เปรียบเทียบได้กับคนที่เผชิญกับอุบัติเหตุกะทันหัน

ต้องนิ่งด้วย แล้วก็มีความเฉียบคมฉับไวด้วย

จึงจะหลีกหลบสิ่งที่พุ่งเข้ามาหาอย่างรวดเร็ว

ด้วยความเป็นอัตโนมัติทันเวลา


ทางพุทธเปรียบสิ่งกระทบหูตาและกายใจทั้งหลาย

ว่าเหมือนเป็นภัยหรือยาพิษ

เมื่อไม่รู้ว่าเป็นภัยหรือยาพิษเราก็ไม่หลีกหลบ

ผลลัพธ์คือจิตเกิดความเสียหายอยู่ตลอดทั้งวันทั้งคืน


สัมมาสติคือฝึกรู้ในสิ่งที่ควรรู้

ไม่ว่าจะนับจากก้าวแรกที่เห็นลมหายใจ

ไปจนถึงก้าวสุดท้ายที่เห็นธรรมทั้งปวง

ล้วนแต่ควรรู้ว่าเหล่านั้นไม่เที่ยง

บังคับให้เป็นอย่างใจไม่ได้

ไม่อาจคงรูปให้เป็นตัวเป็นตนอย่างใดอย่างหนึ่งถาวร

เมื่อรู้ความจริงก็จะได้ไม่มีอาการยึด

เช่น เมื่อรู้แล้วว่าจิตไม่เที่ยง

บังคับจิตให้เป็นไปตามต้องการไม่ได้

เราก็จะได้ไม่คาดหวัง

ยึดมั่นสำคัญผิดว่าจะให้มันทรงนิ่งอยู่ตลอด

หรือเมื่อรู้แล้วว่ากายไม่เที่ยง

เหนี่ยวรั้งให้กายคงอยู่ในสภาพใดสภาพหนึ่งไม่ได้

เราก็จะหมดความทุรนทุรายเมื่อมันเหี่ยวย่นลง

หรือแม้กระทั่งร่างของบุคคลอันเป็นที่รักแตกดับ

เราก็จะไม่ร่ำร้องคร่ำครวญให้ร่างนั้นกลับฟื้นคืนชีพ


การเจริญสติมุ่งหมายเอาการฝึกรู้กายใจตามจริง

ผลลัพธ์สุดท้ายคือสมาธิที่เรียกว่า "อริยสมาธิ"

คือจิตตั้งมั่นรู้อยู่เองเป็นอัตโนมัติว่า

กายใจไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวเราจริงๆ

ดังนั้น ถ้าจะกล่าวโดยภาพรวม

ก็ต้องบอกว่าการทำสมาธิแบบพระพุทธเจ้า

คือ "การเจริญสติ" แบบที่เราได้ยินกันมากขึ้นในยุคนี้นั่นเอง

เมื่อทำสมาธิจนเป็นอริยสมาธิเต็มขั้น

ก็คือการเกิดปรากฏการณ์ล้างผลาญกิเลสเป็นขั้นๆ

เรียกว่ามรรคผลขั้นโสดา สกทาคา อนาคา และอรหัตต์ตามลำดับ


) สมถะกับวิปัสสนาต่างกันอย่างไร?


สมถะหมายถึงการอาศัยวิธีอันเป็นธรรมใดๆ

ทำให้ใจสงบจากกิเลส เพื่อให้พร้อมรู้เป็นวิปัสสนา

พูดสั้นๆคือ "ทำจิตให้สงบลงพร้อมตื่นรู้ตามจริง"


ปัจจุบันคนมักพูดถึงการทำสมถะ

ว่าคือการนั่งสมาธิและเดินจงกรม

หรือหนักกว่านั้นคือสมถะเป็นเครื่องถ่วง

ไม่ให้สนใจวิปัสสนา

ติดสมถะแล้วคือได้ไปเป็นพรหม

หมดสิทธิ์เข้าถึงมรรคผลนิพพาน

สมถะเลยถูกมองเป็นผู้ร้าย

และเห็นวิปัสสนาเป็นพระเอก


ข้อเท็จจริงก็คือไม่มีใครเป็นผู้ร้าย

ไม่มีใครเป็นพระเอก

มีแต่ขาสองข้างที่พาเราเดินไปถึงฝั่ง

ขาดข้างใดข้างหนึ่งก็เรียกว่าขาเป๋

เดินลำบาก ไปถึงปลายทางได้ยาก

หรือยิ่งถ้าขาข้างที่เหลือป้อแป้ปวกเปียก

ก็อาจออกจากจุดเริ่มต้นไม่ได้เลยด้วยซ้ำ


คำว่า "วิปัสสนา" นั้น

รากของนิยามมาจากที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสในวิธีเจริญสติ

ใจความคือให้

"ดูกายใจนี้ตามจริงเท่าที่ปรากฏอยู่เป็นปกติ"

และที่เป็นปกติเลยก็คือทั่วทั้งกายใจนี้

กำลังแสดงความไม่เที่ยงให้เราเห็นอยู่ตลอดเวลา

นับตั้งแต่ลมหายใจเข้าออกไปจนกระทั่งความรู้สึกนึกคิด

ใครจะทำหรือไม่ทำวิปัสสนา

กายใจก็แสดงความจริงอยู่อย่างนั้น

ผู้ทำวิปัสสนาเพียงแต่เข้าไปดู เข้าไปรู้อย่างยอมรับเท่านั้นเอง


ฟังดูเหมือนง่าย

แต่ลงมือทำจริงจะยาก

นั่นก็เพราะจิตกระเพื่อมด้วยพลังกระตุ้นของกิเลสอยู่เรื่อยๆ

เช่น แค่ไม่อยากยอมรับว่าเราเป็นฝ่ายผิด

จิตจะบิดเบี้ยว กิเลสจะกระตุ้นให้หาเหตุผลสารพัด

มาพูดให้ตัวเองเป็นฝ่ายถูก

คนเราสั่งสมนิสัยเช่นนี้กันโดยมาก

คนส่วนใหญ่จึงมีจิตที่ยอมรับตามจริงได้ยาก

หรืออย่างตอนฟุ้งซ่านหาทางแก้ตัวอยู่

ตอนฟุ้งซ่านหาทางมีความสัมพันธ์ทางเพศ

ตอนฟุ้งซ่านหาทางแก้เผ็ดคนที่ทำให้เราเจ็บใจ

จะไม่มีสิทธิ์เห็นความฟุ้งซ่าน

และความฟุ้งซ่านย่อมบดบังทุกสิ่ง

ไม่ว่าจะเป็นโลกภายนอกที่ปรากฏตรงหน้า

หรือจะเป็นโลกภายในทางกายทางใจใดๆ


การทำสมถะจึงมีบทบาทสำคัญ ช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ยังกระเพื่อมไหวอยู่มาก

หากอาศัยสมถะมาช่วย ก็จะเห็นอะไรชัดกระจ่างแตกต่างไป


สรุปว่าสมถะคือการลดระดับความกระเพื่อมไหว

หรือสมถะคือการรักษาจิตไว้ไม่ให้กระเพื่อมไหวก็ได้

ประเด็นคือเมื่อจิตลดความกระเพื่อมไหวแล้ว

จึงค่อยมีความสามารถเห็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าต่อตาชัดๆ

ไม่ใช่เห็นแบบโคลงเคลง ไม่ใช่เห็นแบบโยกไปไหวมา


) จะต้องเริ่มด้วยสมถะหรือวิปัสสนาก่อน?


มักมีการอ้างถึงพระอานนท์

ที่ท่านใจกว้าง เปิดรับทั้งลูกศิษย์ที่ชอบทำสมถะก่อนวิปัสสนา

หรือแบบที่อยากทำวิปัสสนาก่อนสมถะ

ตลอดจนแบบที่อยากทำทั้งสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป

ความจริงก็คือถ้าเราดูที่ตัวเองอย่างเข้าใจ

ว่าเหมาะกับอะไร

ไม่ถือเอาตายตัวเป็นสากลว่าเริ่มอันไหนก่อนถึงจะดีกว่า

ปัญหาก็จะหมดไป และไม่ต้องกังขาอยู่เนืองๆ


ยกตัวอย่างถ้าเป็นคนกลัดกลุ้มรุ่มร้อนในราคะ โทสะ โมหะอยู่เรื่อยๆ

ก็อย่าเพิ่งฝืนทำวิปัสสนาให้ยาก

ต้องหาทางลดความรุ่มร้อนลงเสียบ้าง

เช่น ลดเหตุแห่งความตรึกนึกถึงเรื่องกามและเรื่องโกรธ

หันมาแผ่เมตตาหรือปลงสังเวชในความเน่าเปื่อยแห่งกายเสียบ้าง

พอร้อนเปลี่ยนเป็นเย็น พอทะยานอยากเปลี่ยนเป็นสงบระงับ

จิตถึงค่อยพร้อมจะเห็นตามจริงแบบวิปัสสนาได้


แต่หากเป็นคนยอมรับตามจริงได้ง่ายมาแต่ไหนแต่ไร

เคยมีนิสัยเห็นประโยชน์ตามที่มันเป็นประโยชน์

เห็นโทษตามที่มันเป็นโทษ สำนักผิดตามที่ทำผิด

กับทั้งรักษาวาจาสัตย์ พูดคำไหนคำนั้นไม่กลับกลอก

ไม่พูดเอาดีเข้าตัว ไม่โยนชั่วให้คนอื่น

เช่นนี้ไม่ต้องพยายามทำสมถะมากก็ยกขึ้นวิปัสสนาได้เลย

ทำวิปัสสนาไป เดี๋ยวจิตคลายความยินดีในกิเลสทั้งหลาย

กลายเป็นสมถะไปในตัวได้เอง


) อานาปานสติคืออะไร?


อานาปานสติเป็นทั้งการทำสมาธิและการเจริญสติ

เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนาในคราวเดียวกัน

แต่อย่างที่กล่าวแล้วว่าต้องมี "ความเข้าใจ" เป็นทุนก้อนแรกไว้ก่อน

หากปราศจากความเข้าใจแล้ว

อานาปานสติอาจเป็นสมาธิเก๊ๆ เป็นการเจริญสติเทียมๆ

หรืออาจเป็นสมถะถ่วงความเจริญ หรืออาจเป็นวิปัสสนายาพิษ

แทนที่จะเห็นอะไรตามจริง

กลับเห็นแต่อะไรที่ส่งเสริมสนับสนุนให้เข้าข้างตัวเอง

พอกพูนมานะอัตตาให้ยิ่งๆขึ้นไปได้ทุกวัน


ขอให้ทำความเข้าใจอย่างถูกต้อง

หากกล่าวว่าอานาปานสติเป็นสมาธิ

ก็หมายความว่าเป็นสมาธิ

ที่อาศัยลมหายใจเป็นหลักตรึงจิตให้ตั้งมั่น


หากกล่าวว่าอานาปานสติเป็นการเจริญสติ

ก็ต้องหมายความว่าเป็นการเจริญสติ

ที่อาศัยการยอมรับตามจริงว่าลมหายใจไม่เที่ยง

ยอมรับตามจริงว่าเมื่อใดถึงเวลาเข้า เมื่อใดถึงเวลาออก

เมื่อถึงเวลาควรหยุด

กระทั่งเห็นชัดขึ้นมาเองว่าลมหายใจนั้น

เข้าแล้วต้องออก ออกแล้วต้องหยุด หยุดแล้วก็ต้องเข้าใหม่

เดี๋ยวก็ยาว เดี๋ยวก็สั้น หาความเที่ยงไม่ได้

มีแต่ภาวะพัดไหวของธาตุลม

ไม่ได้ต่างจากสายลมที่พัดกิ่งไม้ใบหญ้าแม้แต่นิดเดียว

เห็นจนพอ ในที่สุดจิตก็ยอมรับตามจริงว่าลมไม่เที่ยง

ไม่มีลมไหนเลยในชีวิตที่เป็นตัวเรา

ไม่มีลมไหนเลยที่เป็นบุคคล ตัวตน เราเขา

แม้สุขที่เกิดจากอานาปานสติ

ตั้งอยู่ได้นานแค่ไหนก็ต้องเสื่อมลงเป็นธรรมดา

ไม่ต่างจากลมหายใจแต่อย่างใดเลย


เมื่อเข้าใจอยู่ด้วยมุมมองข้างต้น

คำว่าสมถะและวิปัสสนาก็กลายเป็นเครื่องเสริมกัน

ไม่ใช่ศัตรูที่ต้องมาตีกันในอานาปานสติ

ลมหายใจและความสุขสดชื่นจะเป็นเครื่องล่อใหม่

ให้จิตของเราผละออกมาจากเหยื่อล่อแบบโลกๆ

นั่นถือเป็นสมถะ ยกจิตให้พร้อมรู้

และความไม่เที่ยงของลมหายใจที่ปรากฏให้รู้

ก็จะก่อให้เกิดปัญญาเห็นตามจริง

กระทั่ง "ทิ้ง" อุปาทาน เกิดปรากฏการณ์มรรคผลขึ้นในที่สุด


) ทำอานาปานสติควรลืมตาหรือหลับตา?


คำตอบคือขึ้นอยู่กับว่าเรามีเวลาเท่าไร ทำที่ไหน

มีเวลามากสักชั่วโมงหลับตาก็ดีจะได้ไม่วอกแวก

มีเวลาน้อยตอนคอยใครจะลืมตาก็ดีจะได้ไม่หลงเพลิน


ในอานาปานสติสูตร

พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงเจาะจงให้ลืมตาหรือหลับตา

แต่ขอให้พิจารณาตามจุดยืนจริงๆของแต่ละคน แต่ละขณะ

ถ้าลืมตาจะวอกแวกตามเหยื่อล่อสายตาไหม?

ถ้าหลับตาจะเคร่งเครียดเห็นนิมิตล่อใจวุ่นวายไหม?

ถ้ากำลังลืมตาหรือหลับตาแล้วเกิดข้อเสียใดๆ

ก็สลับกันเสีย เพื่อขับไล่ข้อเสียนั้นๆไป เท่านี้ก็จบ


หากลืมตาแล้วรู้ลมหายใจได้ต่อเนื่อง ก็ควรลืมตาให้มาก

หากหลับตาถึงจะรู้ลมหายใจได้นานๆ ก็ควรหลับตาให้ต่อเนื่อง

อย่าไปกลัว หรือไปยึดรูปแบบว่าจะเอาอย่างไหนถึงจะถูก

เพราะมันถูกตรงจิต ตรงสติ ตรงความสามารถรู้ความไม่เที่ยง

ไม่ใช่ถูกตรงหลับตาหรือลืมตา


สำหรับคนส่วนใหญ่จะพบว่าการหลับตา

คือการปิดกั้นเครื่องรบกวนสายตา อันนี้ก็ถูก

แต่สำหรับคนอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ถูกรบกวนด้วยเครื่องล่อตาง่ายๆ

และสมัครใจลืมตาทำอานาปานสติ อันนี้ก็อย่าว่ากัน


) ทำอานาปานสติควรนั่งขัดสมาธิหรือนั่งเก้าอี้?


ถ้านั่งขัดแข้งขัดขานานๆ

กล้ามเนื้อจะหดเกร็ง

และยิ่งถ้าได้ความพยายามเพ่งลมหายใจมาเสริม

สักพักเดียวก็อาจพบว่าเหน็บกินเหมือนร่ำๆจะพิการได้

แรกเริ่มจึงควรนั่งเก้าอี้ก่อน

อย่าไปติดยึดว่านั่งขัดสมาธิได้ถึงจะเก่งหรือถึงจะถูก


เมื่อนั่งเก้าอี้เจริญอานาปานสติจนบังเกิดความชุ่มชื่นแล้ว

คุณจะรู้สึกว่ากล้ามเนื้อผ่อนคลายสบายมาก

เพราะร่างกายหลั่งสารดีๆออกมา

และจิตก็ไม่ก่ออาการบีบคั้นร่างกายดังเคย

ถึงตรงนั้นถ้าเลื่อนขั้นมานั่งขัดสมาธิ

ก็จะได้ความสมดุลครบวงจร

ตามที่พระพุทธเจ้าแนะว่าอานาปานสติที่สมบูรณ์


) เสียงช่วยกำกับการฝึกอานาปานสติมีประโยชน์อย่างไร?


ปกตินักทำสมาธิหรือนักเจริญอานาปานสติมือใหม่

จะจับทิศจับทางไม่ถูก ได้หน้าลืมหลัง ไม่รู้จะเริ่มหนึ่ง สอง สามอย่างไร

ถ้ามีเสียงบอกคอยช่วย ก็จะมีประโยชน์ตรงที่ไม่ต้องหลงทาง

เหมือนคนเพิ่งฟื้นจากสลบกลางหมอกจัด

ถ้ามีใครมาจูงมือและคอยบอกว่าต้องก้าวขึ้นบันไดอย่างไร

เตือนให้ช้าหรือเร่งให้เร็วตามความเหมาะสมที่จังหวะไหน

โอกาสจะเข้าเขตปลอดโปร่ง ไม่ต้องหลงวกวนค่อยสูงขึ้น


อย่างไรก็ตาม เมื่อจับหลักได้ถูกต้องแม่นยำแล้ว

ก็ไม่ควรอาศัยเสียงเป็นเครื่องช่วยกำกับ

เพราะเสียงเป็นปฏิปักษ์กับสมาธิจิต

ถ้าคอยพะวงฟังเสียงหรือแปลความหมายของเสียงอยู่

จิตก็จะไม่วิเวกเต็มรอบ เข้าถึงฌานได้ยาก


ไฟล์เสียงช่วยกำกับการฝึกอานาปานสติจากดังตฤณ

แบ่งออกเป็นหลายช่วง

จุดประสงค์เป็นไปเพื่อให้ฟังแล้วเข้าใจตลอดสาย

ว่าจะดำเนินจิตแบบนับหนึ่ง สอง สาม กันท่าไหน

ขณะหนึ่งๆอยู่ตรงขั้นใดของอานาปานสติ

และกระทั่งจะนำไปเทียบเคียงกับโพชฌงค์ได้อย่างไร


ไฟล์เสียงทั้งหมดจะทยอยลงที่ด้านล่างนี้ตามลำดับ

Thursday, October 1, 2009

งานเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร

งานประชุมวิชาการพระพุทธศาสนานานาชาติเทิดพระเกียรติ งานฉลองพระชันษา ๙๖ ปี
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
เรื่อง พระพุทธศาสนาสู่ศตวรรษใหม่
วันที่ ๓ ตุลาคม เวลา ๑๔.๓๐-๑๕.๓๐ นี้ครับ

รายละเอียดของงาน

สถานที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย